ประกาศจากแอดมิน



กำลังปรับปรุงนะครับ อีกสักพักคงได้พบกับ
Spiderlaw แบบเต็มรูปแบบครับ

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

ราษฎรมีอำนาจจับความผิดซึ่งหน้าแค่ไหน ?


อำนาจจับของราษฎร

          มาตรา ๗๙  ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา ๘๒ หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
 
          จากมาตราดังกล่าวสรุปได้ว่า อำนาจจับของราษฎร มีดังนี้

๑.      ตามมาตรา ๘๒

๒.      เป็นความผิดซึ่งหน้าตามบัญชีท้ายประมวล


๑.    กรณีตามมาตรา ๘๒

                   มาตรา ๘๒ เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้ แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้

ข้อสังเกตมาตรา ๘๒

๑.      ราษฎรที่ถูกขอความช่วยเหลือสามารถจับได้แม้จะเป็นความผิดนอกบัญชีท้ายประมวลก็ได้[1]เหตุที่ไม่อยู่ภายใต้มาตรา ๗๙ เพราะไม่ได้เป็นกรณีที่ราษฎรจับเอง หากแต่เป็นการช่วยเจ้าพนักงาน

๒.     ต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับเท่านั้น หากเป็นการจับโดยไม่มีหมายจับราษฎรช่วยไม่ได้ เช่นการจับความผิดซึ่งหน้านอกบัญชีท้ายประมวล

๓.     ราษฎรเป็นผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงาน ดังนั้นหากไม่อาจเกิดอันตรายแล้วราษฎรย่อมต้องช่วยเหลือ หากไม่ช่วยเหลือก็จะมีความผิด มาตรา ๓๖๘ ป.อ.



๒.    ความผิดซึ่งหน้าตามบัญชีท้ายประมวล

          ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้นได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ (มาตรา ๘๐ วรรคแรก)


          ความผิดซึ่งหน้าที่ราษฎรมีอำนาจจับได้นั้นต้องดูจากบัญชีท้ายประมวลว่ามีฐานความผิดใดบ้าง หากเป็นความผิดซึ่งหน้าจริง แต่ไม่ได้เป็นความผิดตามบัญชีท้ายประมวลราษฎรย่อมไม่มีอำนาจจับกุม เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ได้มีอยู่ตามบัญชีท้ายประมวลดังนั้นหากราษฎรคนใดเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวกำลังกระทำ ก็ไม่อาจเข้าจับกุมได้ เว้นแต่จะมีความผิดหลายฐานความผิดและมีความผิดตามบัญชีท้ายประมวลอยู่ด้วย การจับจึงจะชอบด้วยกฎหมาย



[1] เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วย การดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา, ๒๕๕๓, หน้า ๓๘๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เห็นกันอย่างไร เสนอความเห็นกันหน่อยเร็ว !!!!!