ประกาศจากแอดมิน



กำลังปรับปรุงนะครับ อีกสักพักคงได้พบกับ
Spiderlaw แบบเต็มรูปแบบครับ

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๕ บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม


กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๕
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
รายจ่าย
        รายจ่ายหมายถึงต้นทุนที่หมดสิ้นไป และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ รายจ่ายเพื่อหากำไรและรายจ่ายเพื่อการลงทุน



รายจ่ายเพื่อหากำไร
        หมายถึงต้นทุนสินค้าหรือบริการที่กิจการได้จ่ายไปเพื่อก่อให้เกิดรายได้ หรือเพื่อให้สินค้าหรือบริการพร้อมที่จะขายได้ เช่น
๑.     ต้นทุนขายหรือต้นทุนสินค้า เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าซื้อสินค้า หรือค่าวัตถุดิบอื่น ๆ
๒.     ค่าใช้จ่ายในการขายหรือบริหาร เช่นเงินเดือนลูกจ้างพนักงาน ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าเช่าสำนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าส่งเสริมการขาย ค่าภาษีอากร ค่าโฆษณา เป็นต้น
๓.     ดอกเบี้ยจ่าย เช่น ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินเพื่อใช้จ่าย

รายจ่ายเพื่อการลงทุน
        หมายถึงรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน อันมีผลก่อนเกิดรายได้ เป็นการถาวรต่อธุรกิจ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เช่นรายจ่ายค่าซื้อที่ดิน ค่าก่อสร้าง เครื่องจักร รถยนต์ เป็นต้น และยังหมายความรวมถึงรายจ่ายในการต่อเติมด้วย เช่นต่อเติมอาคาร ๓ ชั้น เป็นอาคาร ๔ ชั้น รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง เช่นค่ากั้นห้อง รายจ่ายในการขยายออก เช่น ขยายอาคาร โรงงาน หรือรายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เช่น ซื้ออาคารเก่ามาแล้วปรับปรุงอาคารเก่าให้ดูใหม่หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน แต่หากเป็นอาคารที่มีอยู่แล้วเป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไร
        รายจ่ายเพื่อหากำไรถือเป็นค่าใช้จ่ายสามารถนำไปหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบที่เกิดรายจ่ายนั้น รายจ่ายเช่นนี้จึงปรากฏในงบกำไรขาดทุน แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนนั้นไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายหากแต่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของบริษัทจึงปรากฏในงบดุล ไม่ใช่งบกำไรขาดทุน จะต้องทยอยหักในรูปของค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคา เว้นแต่ในทรัพย์สินบางประเภทที่โดยสภาพแล้วจะหักค่าสึกหรอไม่ได้ เช่น หุ้น ทอง สัตว์พาหนะ เป็นต้น หรือมีกฎหมายห้ามมิให้หักค่าเสื่อมราคา เช่น ที่ดิน
        ตัวอย่าง  ปีนี้บริษัทได้ซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตสินค้า ราคา ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้มีการส่งมอบเครื่องจักรให้บริษัทเรียบร้อยแล้ว และบริษัทก็ได้เดินเครื่องจักรแล้วด้วย แล้วบริษัทก็ได้จ่ายเงินจำนวน ๑๐๐ ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้วในปีเดียวกัน (๒๕๕๕) เงิน ๑๐๐ ล้านบาทที่บริษัทได้จ่ายไป ถือเป็นรายจ่ายประเภทใด ?
        ตอบ
          ความสำคัญของการแยกประเภทรายจ่าย
·       หากเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดในปีเดียวกัน
·       หากเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ กรณีนี้สามารถหักได้ปีละ  ๒๐ %  (เป็นเวลา ๕ ปี)
        หลักในทางบัญชีในการวินิจฉัยว่าเป็นรายจ่ายประเภทใดดังนี้
·       หลักกรรมสิทธิ์ เป็นหลักที่เกิดจาก คำพิพากษาศาลฎีกา[1]ซึ่งมีสาระสำคัญว่า รายจ่ายใดหากจ่ายไปแล้วทำให้กิจการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น รายจ่ายนั้นถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
·       หลักประโยชน์  (บัญชีโดยแท้) รายจ่ายใดหากจ่ายไปแล้วทำให้กิจการได้รับประโยชน์เกินกว่า ๑ รอบระยะเวลาบัญชี รายจ่ายนั้นถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
·       หลักสาระสำคัญ (บัญชีโดยแท้) รายจ่ายใดหากเป็นรายจ่ายเพียงเล็กน้อย รายจ่ายนั้นถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร แม้จ่ายไปแล้วกิจการจะมีประโยชน์มากว่า ๑ รอบระยะเวลาบัญชี (เล็กน้อยโดยทั่วไปถือว่าไม่เกิน ๕๐๐ บาท แต่บางบริษัทอาจถือไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท) เช่น บริษัทซื้อประมวลรัษฎากรเพื่อให้แผนกบัญชีและแผนกกฎหมายของบริษัทใช้ ราคาหนังสือ ๒๕๐ บาท ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร สามารถนำไปหักออกได้ทั้งหมด
        กรณีตามตัวอย่างข้างต้น เงิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทถือเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน เพราะเป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน อันบริษัทได้กรรมสิทธิ์ และเป็นทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ๑ รอบระยะเวลาบัญชี อีกทั้งไม่ใช่รายจ่ายที่มีค่าเล็กน้อย จึงต้องหักออกในรูปของค่าเสื่อมราคา ปีละ ๒๐ %
รายจ่ายต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
        บทบัญญัติมาตรา ๖๕ ตรี มีการกำหนดรายจ่ายต้องห้ามเอาไว้ ซึ่งหากเข้ากรณีดังกล่าวหมายความว่า ไม่อาจนำมาหักออกเป็นรายจ่ายได้ (ลงในรายการรายจ่ายไม่ได้)
            และตาม (๒๐) ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาที่ ๓๑๕/๒๕๔๐ กำหนดรายจ่ายต้องห้ามเพิ่ม ๒ รายการ คือ ๑. (รายการที่ ๒๐) ค่าเช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ส่วนที่เกินคันละ ๓๖,๐๐๐ บาทต่อเดือน หรือเกินคันละ ๑,๒๐๐ บาทต่อวัน ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น ค่าเช่าเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท เช่นนี้ต้องพิจารณาดังนี้
·       ๓๖,๐๐๐ บาท ถือเป็นรายจ่ายได้ตามปกติ (รายจ่ายเพื่อหากำไร)
·       อีก ๔,๐๐๐ บาท เป็นรายจ่ายต้องห้าม
        ข้อสังเกต หากเป็นรถอย่างอื่นเช่นรถบรรทุก แม้ค่าเช่าจะวันละ ๒๐,๐๐๐ บาทก็สามารถหักได้หมดนะครับ
๒. รายจ่ายต้องห้ามรายการที่ ๒๑ คือ ต้นทุนของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน จะนำหักค่าเสื่อมราคาได้คันละไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกินต้องห้าม ดังนั้นเมื่อหักค่าเสื่อมราคาได้ทั้งหมด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงต้องทยอยหักปีละ ๒๐ % ดังนี้ในปีแรกจึงหักได้ ๒๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๗๔/๒๕๔๘ ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว... (13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ" หมายความว่า รายจ่ายที่จะนำมาคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิได้นั้นต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงงานหล่อดอกยางรถยนต์และจำหน่ายยาง รถยนต์ โดยใช้อาคาร 2 ชั้น ชั้นหนึ่งใช้ประกอบกิจการ ส่วนอีกชั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยของหุ้นส่วนโจทก์ ไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารสถานประกอบของโจทก์จึงแยกเป็น 2 มิเตอร์ เป็นชื่อโจทก์ 1 มิเตอร์ และ จ. หุ้นส่วนโจทก์อีก 1 มิเตอร์ ดังนั้น ค่าไฟฟ้ามิเตอร์ของ จ. หุ้นส่วนโจทก์เป็นค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอำนวยความสะดวกสบาย แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์และครอบครัว มิได้ใช้สำหรับงานในกิจการของโจทก์ และไม่ได้ใช้เพื่อดูแลทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการโดยเฉพาะ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวที่มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ซึ่งนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ตาม ป.รัษฎากร 65 ตรี (3) และ (13)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๗๕/๒๕๒๒ โจทก์ประกอบกิจการผูกขาดการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อ สัตว์โดยรับมอบหมายจากเทศบาลนครกรุงเทพ โจทก์ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ จำนวนเงินและกำหนดเวลาที่จะจ่ายก็ไม่แน่นอน โจทก์ตั้งเงินค่าตอบแทนไว้ในบัญชีเป็นเงินค้างจ่ายให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ และเทศบาลนครธนบุรีเมื่อถูกทวงถามให้ชำระ โจทก์มีหนังสือตอบไปว่า ยังไม่อาจจ่ายให้ได้เนื่องจากผลการขาดทุนเมื่อมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้นก็จะ จ่ายให้ต่อไป อันเป็นการผัดชำระหนี้โดยไม่มีกำหนดเวลาและเทศบาลทั้งสองแห่งก็ไม่ได้ดำเนิน การบังคับเอาชำระหนี้แต่อย่างใดอีก แสดงว่าโจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของโจทก์ฝ่าย เดียว เงินค่าตอบแทน ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่าย เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9)(13)
        ค่าใช้จ่ายของโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่า เป็นการจ่ายตามประเพณีนิยมของการดำเนินกิจการค้านั้น ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นการให้ของขวัญ ของชำร่วย จัดช่วยเหลือในงานเลี้ยง อันมีจุดประสงค์ในการจ่ายเพื่อประโยชน์บุคคลบางคน ไม่ได้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการค้าโดยเฉพาะ โจทก์ทำการค้าตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยบารมีหรืออิทธิพลของบุคคลอื่นใด จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
        เงินค่ารับรองซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่เกิน สมควรเพราะไม่ถึงร้อยละหนึ่งของรายได้โจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์จ่ายเงินแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากโดยไม่ปรากฏว่าบุคคลที่รับเงินไปปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการใด ให้โจทก์ จึงเป็นค่ารับรองที่เกินสมควร ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (4)
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๖๑/๒๕๒๔ รายจ่ายของโจทก์สำหรับค่าซื้อบัตรการกุศลต่างๆ เช่น บัตรแสดงดนตรีละครค่าซื้อของขวัญในโอกาสต่างๆ เช่น ในงานวันเกิด วันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ค่าช่วยงานต่างๆ เช่นงานบวช งานเลี้ยง งานทอดกฐิน มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหากจะมีผลตอบแทนในด้านการโฆษณาชื่อเสียงและสินค้าของโจทก์อยู่บ้าง ก็เป็นแต่เพียงผลพลอยได้เท่านั้น บางรายการที่เป็นการกุศลก็มิใช่การกุศล สาธารณะจะนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
        เงิน ค่าบำเหน็จทดแทนของพนักงานและคนงานที่โจทก์กันเงินไว้เป็นรายจ่ายที่จะต้อง จ่ายในอนาคต จึงเป็นเงินสำรองโจทก์ไม่มีสิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี
        เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิ เป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
        การ ที่โจทก์นำรายจ่ายซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิมาหัก ออกเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจประเมินแจ้งจำนวน เงินภาษีที่จะต้องชำระอีกและให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นได้
มาตรา ๖๕ ตรี (๓)
        รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศลเว้นแต่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี..
        แม้การให้เพื่อการกุศลก็เป็นรายจ่ายต้องห้าม เว้นแต่จะเข้าการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
        กรณีบริษัทใส่เงินในซองสำหรับงานบวช การกฐิน ก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพราะไม่ได้เป็นการกุศลสาธารณะ (เป็นการกุศล-แต่ไม่สาธารณะ) หากว่ามีใบอนุโมทนาบัตรจากทางวัดก็จะถือว่าเป็นการกุศลสาธารณะแต่หากบริจาคไปโดยไม่มีใบอนุโมทนาบัตรจากทางวัดถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม การบริจาคเงินให้มูลนิธิ ถือเป็นรายจ่ายเพื่อสาธารณะ หากมูลนิธิออกใบเสร็จให้
การรับรู้รายได้และรายจ่าย (ภาษีบัญชี)
·       เมื่อไรจึงถือว่ามีรายได้เกิดขึ้น ?
·       เมื่อไรจึงจะถือว่ามีรายจ่ายเกิดขึ้น ?
ตัวอย่าง      วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ กิจการซื้อสินค้าราคา ๙๐๐,๐๐๐ บาท จากผู้ขาย โดยซื้อเป็นเงินเชื่อ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กิจการได้ชำระราคาหมดให้แก่ผู้ขาย วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ กิจการได้ขายสินค้ามูลค่า ๑ ล้านบาทเป็นเงินเชื่อ ลูกค้าชำระราคาวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑
·       กิจการมีรายได้จากการขายสินค้าจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๐ หรือปี ๒๕๕๑
o   เงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ต้องนำไปเสียภาษีในปี ๒๕๕๐ เพราะถือหลักเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
o   เกณฑ์ในการรับรู้รายได้มี ๒ เกณฑ์คือเกณฑ์เงินสด และเกณฑ์สิทธิ์
§  เกณฑ์เงินสด รายได้เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระหนี้
§  เกณฑ์สิทธิ์ รายได้เกิดขึ้นเมื่อรายการค้าเกิดขึ้น แม้จะยังไม่ได้ชำระหนี้ก็ตาม (หนี้เกิดเมื่อไรถือว่ารายได้เกิดขึ้นเมื่อนั้น)
o   วิธีการใช้เกณฑ์ดังกล่าว
§  ผู้ขายเป็นนิติบุคคล ดูมาตรา ๖๕ วรรคสอง ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์
§  ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ไม่มีบทบัญญัติโดยชัดแจ้ง ดูมาตรา ๕๖ ...ที่ตนได้รับ...ดังนั้นเงินได้ที่จะนำมาชำระถือตามเกณฑ์เงินสด
·       กรณีรายจ่าย จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท จะต้องนำจ่ายในปีไหน
o   เกณฑ์เงินสด รายจ่ายและรายจ่ายเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระหนี้ ดังนั้นกรณีตามตัวอย่าง รายได้และรายจ่ายจึงอยู่ในคนละปีกัน
o   เกณฑ์สิทธิ์ (นิติบุคคล) มาตรา ๖๕ วรรคสอง เกณฑ์สิทธิ์ "รายได้เกิดขึ้นเมื่อไร-รายจ่ายเกิดขึ้นเมื่อนั้น" ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๔๒/๒๕๔๓ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยแสดงในงบดุลว่า โจทก์มีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระโดยโจทก์ มิได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 ดังนี้ การที่โจทก์ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระค่าหุ้น ย่อมทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินจึง มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นโดยถือเสมือนว่า โจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้เงินเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีว่าได้รับชำระ เงินค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง ผู้ประกอบการจะต้อง ลงบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับชำระเงินหรือได้จ่ายเงินไปแล้ว ภายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ แต่การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า รายได้ หรือรายจ่ายนั้นจะต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการมีสิทธิ จะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่าย อีกทั้งยังต้องเป็นจำนวน ที่แน่นอน สามารถลงบัญชีรับรู้ได้ สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ ในการบริหารงานของปี 2535 ของโจทก์ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า คณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้จ่าย ค่าตอบแทนหรือไม่ ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าใด สิทธิของกรรมการที่จะเรียกร้องให้บริษัทจ่าย ค่าตอบแทนและหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทน แก่กรรมการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นมีมติ เห็นชอบให้จ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ดังนั้น แม้ว่าค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535จะสัมพันธ์กับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ก็ไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้หรือเป็นต้นทุนของรายได้ โดยตรง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้อง จ่ายค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวนั้นหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ารายจ่าย นั้นได้เกิดขึ้นแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 โจทก์จึงไม่ต้อง นำรายจ่ายดังกล่าวมาลงบัญชีหรือตั้งเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในรอบระยะเวลา บัญชีปี 2535 แต่อย่างใด แต่โจทก์สามารถ นำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ได้ เพราะหน้าที่ของโจทก์ในการจ่ายเงินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลา บัญชีนั้นคือหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบในการ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 เมื่อถือเป็นรายจ่ายของปี 2536 โจทก์ก็ไม่ จำต้องนำรายจ่ายนั้นไปปรับปรุงเป็นรายจ่ายของปี 2535 ในการยื่น เพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า มีเหตุที่จะงดการเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้อง ถึงเหตุที่จะขอให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ และศาลภาษีอากรมิได้ตั้งประเด็นนี้ไว้ โจทก์ก็มิได้คัดค้าน จึงถือ ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย









[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๔๙/๒๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เห็นกันอย่างไร เสนอความเห็นกันหน่อยเร็ว !!!!!