ประกาศจากแอดมิน



กำลังปรับปรุงนะครับ อีกสักพักคงได้พบกับ
Spiderlaw แบบเต็มรูปแบบครับ

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๕ บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม


กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๕
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
รายจ่าย
        รายจ่ายหมายถึงต้นทุนที่หมดสิ้นไป และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ รายจ่ายเพื่อหากำไรและรายจ่ายเพื่อการลงทุน


ขณะทางแอดมินไม่สบาย...จึงขอยหยุดการโพสต์บทความชั่วคราวนะครับ



นายแมงมุม

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภาษีอากร ตอนที่ ๓ ศ.(พิเศษ) ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม


กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๗
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์  ตราชูธรรม
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
การเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ

        บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยส่วนใหญ่จะเสียจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งจะเสียรอบระยะเวลาบัญชีละ ๒ ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง เสียภายในสองเดือนนับจากวันครบหกเดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ครั้งที่สอง เสียภายใน ๑๕๐ วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
        รอบระยะเวลาบัญชี หมายถึงระยะเวลา ๑๒ เดือน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นและสิ้นสุดตามระยะเวลาปฏิทิน (ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับปีภาษี—๑ มกราคม – ๓๑ ธันวาคม) แต่บริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตามปีปฏิทิน แต่บริษัทญี่ปุ่นในไทยจะเริ่มต้น ๑ เมษายน ส่วนบางบริษัทจะเริ่มต้นตามฤดูกาลเช่น บริษัทผลิตน้ำตาล เริ่มต้น ๑ กรกฎาคม หรืออาจเริ่มต้นและสิ้นสุดตามปีงบประมาณแผ่นดินก็ได้ (กฎหมายไม่กำหนดว่าจะต้องเริ่มต้นเมื่อใด)

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตอนที่ ๒


กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๕
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
วิธีเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ประมวลรัษฎากร ได้กำหนดวิธีเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ๕ วิธี
๑.     การเสียจากฐานกำไรสุทธิ
๒.     เสียจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
๓.     เสียจากการจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศ
๔.     วิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย
๕.     วิธีประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน
ฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
มูลนิธิหรือสมาคมที่มิใช่องค์การสาธารณกุศล
        มูลนิธิหรือสมาคมที่มิใช่องค์การสาธารณกุศล ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือเป็นบริษัท ต้องเสียจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตรา   ๑๐ % โดยไม่คำนึงว่าจะมีกำไร-ขาดทุน รอบบัญชีไหนได้รับเงินมาเท่าไรไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุน ค่าใช้จ่าย ให้นำเงินที่ได้รับนั้นมาเสียภาษี ๑๐ % เช่น สมาคมให้เช่าที่ดินได้รับเงินค่าเช่าที่ดิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทตลอดปี ต้องเสียภาษี ๑๐ % คือ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และเสียเพียงรอบบัญชีละหนึ่งครั้ง
        มูลนิธิที่เสียอัตราร้อยละ ๑๐ ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ นั้นมีข้อยกเว้น หากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) จะเสียเพียง  % เท่านั้น เช่นสมาคมมีการขายสินค้า-ทรัพย์สิน เงินได้จากการขายสินค้า-ทรัพย์ (เงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๘)) ให้เสียในอัตราร้อยละ ๒  เงินได้นอกจากนั้นตามมาตรา ๔๐ (๒), (๗) ต้องเสียอัตราร้อยละ ๑๐

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รับสมัครบทความ ฟรี


ประกาศจากนายแมงมุม

หากผู้เยี่ยมชมท่านใดต้องการจะสมัครรับบทความจากนายแมงมุมสามารถส่งอีเมล์แจ้งความประสงค์มาได้ที่ pitakkits@hotmail.com ซึ่งจะรับบทความทั้งหมดหรือเฉพาะเรื่องก็ได้นะครับ เนื่องจากทางบล็อกมีเนื้อหาค่อนข้างน้อย แต่หากมีผู้สนใจทางบล็อกก็จะเร่งทำให้
การให้บริการนี้ไม่คิดค่าบริการใด ๆ นะครับ

เงื่อนไขกำกับการจ่ายเงินและเงื่อนไขจำกัดความรับผิด


เงื่อนไขกำกับการจ่ายเงินและเงื่อนไขจำกัดความรับผิด
นายแมงมุม

       เหตุที่ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้น ๆ นี้ขึ้นมาเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการสอบกลางภาควิชาตั๋วเงินทำให้ผมเกิดความสับสนว่าเงื่อนไขทั้งสองอย่างนี้มันต่างกันอย่างไร ดังนั้นบทความสั้น ๆ นี้จะสรุปว่าเงื่อนไขทั้งสองประการมีความต่างกันอย่างไรและขณะเดียวกันหากมีเงื่อนไขเหล่านั้นแล้วจะส่งผลต่อตั๋วเงินอย่างไร ในกรณีนี้จะศึกษาเฉพาะในเรื่องเช็ค

คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขในการใช้เงิน

รายการในเช็ค

        มาตรา ๙๘๘ อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

        ที่ว่าต้องเป็น “คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน” นั้น เฉพาะในส่วนที่ว่าต้องปราศจากเงื่อนไขนั้นสามารถสรุปได้ดังนี้
        เงื่อนไขที่ว่านั้น คือเงื่อนไขที่ผู้รับเงินอาจได้รับเงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต[1] เช่น ให้ธนาคารใช้เงินให้แก่นายหนึ่งจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อนายหนึ่งมีบุตรเป็นผู้ชาย เช่นนี้ถือเป็นคำสั่งอันมีเงื่อนไข ซึ่งหากตราสารใดไม่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๘๘ ตราสารดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา ๙๘๙

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๕๘/๒๕๔๘ เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม      ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

        รองศาสตราจารย์สหธน  รัตนไพจิตร ให้ความเห็นว่าเงื่อนไขการใช้เงินนั้นรวมถึงการกระทำที่ต้องกระทำก่อนจะใช้เงินด้วย[2]เช่น แดงอยู่เชียงใหม่สั่งซื้อสินค้าจากขาวซึ่งอยู่ที่ปัตตานีในการซื้อสินค้านี้แดงได้ออกตราสารสั่งธนาคารใช้เงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทให้ขาว โดยระบุไว้ในคำสั่งใช้เงินว่า “โปรดใช้เงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทให้ขาวเมื่อขาวได้ส่งสินค้าขึ้นรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว” ดังนี้หากขาวไม่ขนสินค้า ธนาคารก็ไม่ต้องจ่ายเงิน คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งอันมีเงื่อนไขในการใช้เงิน ทำให้ตราสารไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วเงิน
       
เงื่อนไขจำกัดความรับผิด

        มาตรา ๙๑๕ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
(๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน

        มาตรา ๙๑๕ อนุโลมมาใช้ในเช็คตามมาตรา ๙๘๙ ด้วย ดังนั้นหมายความว่า หากเขียนข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สั่งจ่ายลงไปในเช็คสามารถกระทำได้และมีผลบังคับตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
        จากกรณีเดิม ข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็น “แดงจะรับผิดตามตั๋วเมื่อขาวได้ส่งสินค้าขึ้นรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว”[3] เช่นนี้สามารถกระทำได้และมีความสมบูรณ์เป็นเช็คเพราะคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นคำสั่งที่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน

        รองศาสตราจารย์สหธน  รัตนไพจิตร ได้ให้ข้อสังเกตว่า การจำกัดความรับผิดตามมาตรา ๙๑๕ นั้นเป็นเรื่องที่พิจารณาจากคำสัญญาของผู้สั่งจ่ายโดยพิจารณาด้านผู้สั่งจ่ายอย่างเดียวว่าผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดเมื่อใด หรือไม่ต้องรับผิดเมื่อใด แต่เงื่อนไขการใช้เงินนั้นเป็นคำสั่งของผู้สั่งจ่ายสั่งไปยังธนาคารผู้จ่ายว่าให้ใช้เงินได้เมื่อมีเงื่อนไขอะไรบ้าง[4]


ดังนั้นสรุปได้ดังนี้
๑.     เงื่อนไขกำกับการใช้เงินคือ กำหนดว่าธนาคารจะต้องใช้เงินเมื่อใด ซึ่งทำให้ตราสารไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค

๒.     เงื่อนไขจำกัดความรับผิดคือ เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดเมื่อใด

ตัวอย่างเปรียบเทียบ

นายหนึ่งสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทแก่นายสอง โดยมีเงื่อนไขดังนี้
๑.     ธนาคารจะใช้เงินให้แก่นายสองต่อเมื่อนายสองได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ขนส่งแล้ว
๒.     นายหนึ่งจะต้องรับผิดต่อนายสองเมื่อนายสองได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ขนส่งแล้ว

        กรณีตาม ๑. เป็นเงื่อนไขตาม ๙๘๘ (๒) ทำให้ไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค แต่ตัวอย่างตาม ๒. เป็นเรื่องของมาตรา ๙๑๕ (๑) มีผลบังคับได้



หมายเหตุ : หากเอกสารชุดนี้มีความบกพร่องประการใด กรุณาแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://spiderlaw.blogspot.com  หรือส่งอีเมล์มาที่ pitakkits@hotmail.com


[1] กองทุนศาสตราจารย์จิตติ  ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียงมาตรา ว่าด้วยตั๋วเงิน เล่ม ๒
(มาตรา ๙๘๙ – ๑๐๑๑), สหธน  รัตนไพจิตร, (มกราคม ๒๕๕๕), หน้า ๕๓๑

[2] เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓๒

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓๓
[4] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน


วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิ.อาญา อ.ธานี วันที่ 26 มกรา part 2


บันทึกคำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ภาคสอง สมัย ๖๕
วิชา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๓-๔ (ค่ำ)
บรรยายโดย อ.ธานี  สิงหนาท
๒๖ มกราคม ๒๕๕๖  (ตอนที่ ๒)
การจัดหาทนายความให้จำเลย
            มาตรา ๑๗๓  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
          ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามคำให้การจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
หลักเกณฑ์
๑.      คดีที่มีความร้ายแรง (ประหารชีวิต) หรือคดีที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ศาลต้องถามจำเลย และต้องจัดหาทนายความให้จำเลยหากจำเลยไม่มี หากไม่จัดให้ถือว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หากศาลต้นพบเองก็เพิกถอนเองตาม มาตรา ๒๗ ป.วิ.พ. ประกอบ มาตรา ๑๕ ป.วิ.อ. แต่หากเป็นศาลสูงพบต้องใช้ มาตรา ๒๐๘(๒) ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
๒.     คดีธรรมดา (อัตราโทษจำคุก) มีสองคำถามดังนี้
·        มีทนายความหรือไม่ ?
·        ต้องการทนายความหรือไม่ ?
            การฝ่าฝืนมาตรา ๑๗๓ ไม่มีกฎหมายเขียนกำหนดโทษเอาไว้ เหมือนกรณีของมาตรา ๑๓๔/๑ ที่บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง (จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้) เอาไว้ในมาตรา ๑๓๔/๔ วรรคท้าย ดังนั้นหากมีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๗๓ จะมีผลเป็นอย่างไร
            กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหากศาลชั้นต้นเห็นก็อาจใช้การเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา ๒๗ ป.วิ.พ. ประกอบมาตรา ๑๕ ป.วิ.อ. แต่หากเป็นศาลสูงพบก็ต้องใช้มาตรา ๒๐๘ (๒) ถือว่าคำให้การดังกล่าวเป็นอันเสียไป ไม่มีผลผูกพันจำเลย
            เช่นเดียวกับกรณีการเบิกความโดยไม่ได้สาบานตนก่อนก็ไม่มีบทตัดพยานโดยเฉพาะ ดังนั้นต้องใช้บททั่วไปตามมาตรา ๘๖ ป.วิ.พ. ถือเป็นการสืบพยานโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายรับฟังไม่ได้

การพิจารณาคดี (ต้องดูตาม ป.วิ.พ.)
            มาตรา ๑ (๘) การพิจารณา หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
          การถามคำให้การ ถือว่าเป็นการพิจารณาคดี ดังนั้นศาลจะถามคำให้การจำเลยโดยไม่ได้ถามจำเลยเรื่องทนายความไม่ได้ หากถามคำให้การไปโดยปราศจากการจัดหาทนายความให้และจำเลยรับสารภาพโดยไม่มีทนายความถือว่าคำรับสารภาพนั้นเป็นอันเสียไป ไม่มีผลผูกพันจำเลย ศาลชั้นต้นต้องเพิกถอน
คำถาม                   :  หากจำเลยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเช่น เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย หากไม่มีทนายความและเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ต้องจัดหาทนายความให้หรือไม่ ?
ตอบ            :  ต้องจัดหาให้เสมอ  แม้จำเลยไม่ต้องการก็ต้องตั้งให้ (ศาลต้องตั้งให้แต่จำเลยจะใช้ทนายความหรือไม่เป็นเรื่องของจำเลย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๑๗/๒๕๔๑ วิธีการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความ อาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20เป็นการดำเนินการในชั้นสอบสวนและการพิจารณาคดีในชั้นศาลการที่ศาลถามผู้ ต้องหาหรือจำเลยว่าจะให้การประการใดตามความในมาตรา 20 ดังกล่าว ถือเป็นการพิจารณา และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองบัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ดังนั้น ก่อนเริ่มพิจารณาหรือก่อนเริ่มการพิจารณาสอบถามผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าจะให้ การประการใด ศาลจะต้องสอบถามเรื่องทนายจำเลยเสียก่อนเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 หากศาลมิได้สอบถามเรื่องทนายจำเลย แต่ก้าวล่วงไปถึงการพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ
พิจารณา
๑.     พนักงานอัยการโจทก์ว่าจำเลยยักยอกทรัพย์
๒.    ศาลชั้นต้นสอบถามคำให้การจำเลยก่อนสอบถามเรื่องทนายความ จำเลยได้ให้การรับสารภาพ หลังจากนั้นศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๑ เดือน จำนวน ๓๔ กระทง เป็น ๓๔ เดือน จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ ๑๗ เดือน
๓.    มีปัญหาสู่ศาลสูงว่า “คำรับสารภาพก่อนมีทนายความ” รับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ?
๔.    ศาลสูงตัดสินว่า การถามคำให้การจำเลยถือเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ศาลจะสอบถามคำให้การก่อนสอบถามเรื่องทนายความไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ดังนั้นการตัดสินลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบ ศาลสูงจึงยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย้อนให้ศาลชั้นต้นกลับไปสอบถามเรื่องทนายความใหม่ ก่อนสอบถามคำให้การ
หากไม่ใช่คำรับสารภาพแต่เป็นสิ่งอื่นรับฟังได้หรือไม่ ?
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๑/๒๕๐๙ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติให้ศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนาย ถ้าจำเลยไม่มีทนาย และจำเลยต้องการ ก็ให้ศาลตั้งทนายให้จำเลยเสียก่อนเริ่มพิจารณาถ้าศาลสอบถามคำให้การจำเลย ก่อนสอบถามเรื่องทนายก็ย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ในเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าไม่มี เหตุอันสมควรที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
            ประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติขึ้นเพื่อให้จำเลยมีทนายต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษจำคุกตามที่ระบุไว้ มิใช่หมายความรวมถึงโทษที่จำเลยจะพึงได้รับจากการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย การที่จำเลยจะถูกเพิ่มโทษหรือไม่ เป็นคนละส่วนกับกรณีความผิดที่จำเลยถูกฟ้องร้อง ฉะนั้น แม้จำเลยจะให้การก่อนที่ศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนาย คำให้การนั้นก็ไม่เสียไป ทั้งตามรูปคดีก็ไม่มีเหตุน่าสงสัยว่าคำให้การของจำเลยในข้อนี้จะไม่เป็นความ จริง คำรับของจำเลยในข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษ จึงรับฟังเพื่อเพิ่มโทษจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10-11/2509)


พิจารณาดังนี้
๑.    โจทก์ฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์และกล่าวในฟ้องว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องลงโทษ ๖ เดือนในความผิดฐานรับของโจร และภายในเวลาห้าปีหลังพ้นโทษจำเลยได้กลับมากระทำความผิดในคดีหลังอีก จึงขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์และเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา ๙๒ ป.อ.
๒.    ในวันนัดพร้อม ศาลได้สอบถามจำเลย จำเลยปฏิเสธแต่รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้องจริง โดยศาลไม่ได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความ ศาลชั้นต้นก็ได้นัดสืบพยานโจทก์
๓.    ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยได้ตั้งทนายความซักค้านโจทก์
๔.    ศาลตัดสินว่า แม้ศาลจะฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๗๓ วรรคแรก และวรรคสอง แต่หากในวันสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยมีทนายความมาซักค้านพยานโจทก์และช่วยการต่อสู้คดีแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่ไม่ได้ตั้งทนายความให้จำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยมีทนายความต่อสู้คดีมาตั้งแต่เริ่มต้น
๕.    ศาลสูงจึงไม่ต้องเพิกถอน การสืบพยานโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
๖.    ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ ?
·        มาตรา ๑๗๓ มุ่งคุ้มครองเฉพาะข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น ไม่รวมถึงคำขอตามที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย ดังนั้นคำรับว่าเคยต้องโทษก่อนมีทนายจึงฟังได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๖๖/๒๕๔๔ โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยา เสพติดให้โทษฯ มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งมีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความไม่ขอต่อสู้คดี โดยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้และเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โดยไม่ได้ตั้งทนายความให้แก่จำเลย เมื่อถึงวันนัด ศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์ไปสองปาก โดยจำเลยไม่มีทนายความต่อมาศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาแล้วทั้งหมดและมีหนังสือตั้งทนายความให้แก่จำเลย กับเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ ศาลชั้นต้นไม่ได้ให้พยานโจทก์ทั้งสองปากที่เบิกความตอบโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้เพิกถอนเพราะเป็นการผิดระเบียบไปแล้ว เข้าเบิกความตอบคำซักถามของโจทก์ใหม่ เพียงแต่ให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ต่อไปเลยเท่านั้น ดังนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบและการที่ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใน คดีนี้ต่อมาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นว่ากล่าวและเห็นควรแก้ไขโดยย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น ดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง
อย่างไรจึงจะถูกต้อง ?
          คือต้องให้พยานโจทก์ทั้งสองมาเบิกความใหม่หมด คือเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มต้นเลย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๖๐/๒๕๔๘ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลคดีนี้เป็น คดีที่มีอัตราโทษจำคุก เมื่อจำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็น กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ ได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา พิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๔/๒๕๓๕ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา173 วรรคสอง มีเจตนารมณ์ เพื่อให้จำเลยมีทนายช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษจำคุกตามอัตราที่ระบุไว้ แม้ก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นจะมิได้สอบถามจำเลยว่าต้องการทนายที่ศาลจะตั้งให้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์จำเลยได้แต่งตั้งทนายเข้ามาเองพร้อมกับยื่นคำให้การปฏิเสธและทนายจำเลยได้ว่าความให้จำเลยมาตลอด ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

สรุปหลักเกณฑ์มาตรา ๑๗๓
            ศาลต้องสอบถามเรื่องทนายความก่อนสอบถามเรื่องอื่น ๆ หากไม่ได้สอบถามเรื่องทนายความและได้สอบถามคำให้การไปถือว่าคำให้การนั้นเสียไป หากเป็นคำรับสารภาพก็เสียไป แต่หากเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องโดยตรงเช่นการรับว่าเคยต้องโทษซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเพิ่มโทษ แม้จะได้สอบถามตอนที่จำเลยไม่มีทนายความก็รับฟังได้
ขั้นตอนต่อไปในการพิจารณา (หลังจากที่สอบถามเรื่องทนายความแล้ว)
มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
          เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป
สามารถแยกคำให้การของจำเลยได้สองแบบคือ
๑.    คำให้การรับสารภาพ
๒.    คำให้การปฏิเสธ
คำให้การรับสารภาพ
          คำให้การของจำเลยต้องชัดแจ้งว่ากระทำความผิดตามฟ้องจริง หากไม่ชัดแจ้งก็เป็นหน้าที่โจทก์ที่จะต้องกระทำให้ถูกต้อง เช่น โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นได้ชัด
            คำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเช่น ระเบิดนั้นไม่ใช่ของจำเลย แต่เพื่อให้ไม่เป็นการยุ่งยากจำเลยขอรับสารภาพ ไม่ถือว่าเป็นคำรับสารภาพ เช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยาน
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๑๘/๒๕๒๓ คำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลมีความว่า "คดีนี้ข้อเท็จจริงจำเลยเป็นลูกจ้างตัดไม้ ได้อาศัยรถยนต์คันเกิดเหตุไป ในระหว่างจับกุมวัตถุระเบิดมีผู้ต้องหา 3 คนผู้ต้องหาอีก 2 คนบอกให้จำเลยรับสารภาพแล้วจะช่วยเหลือเรื่องเงินทอง ด้วยความไม่รู้เท่าถึงการจำเลยจึงได้รับสารภาพ ความจริงแล้วระเบิดทั้งสองลูกไม่ใช่ของจำเลย แต่เพื่อไม่ให้ยุ่งยากแก่คดีจำเลยขอรับสารภาพตลอดข้อหาไม่ขอต่อสู้คดี" ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่รับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามที่ โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้
            กรณีมีฟ้องหลายข้อหาและจำเลยรับสารภาพหากไม่ปรากฏว่าจำเลยรับสารภาพในข้อหาใดโจทก์ต้องสืบให้เป็นที่แน่ชัด เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยรับสารภาพทุกข้อหา เช่นนี้โจทก์ต้องสืบให้ได้ความว่า จำเลยรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๔๒/๒๕๔๔ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาเดียวเท่านั้น การที่จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการจึงเป็นคำรับสารภาพที่ ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดในข้อหาใดโจทก์จึงต้องนำพยานเข้าสืบ เพื่อให้ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความเช่นนั้น และแม้ว่าในคำร้องขอบรรเทาโทษของจำเลยจะมีเนื้อหาว่าจำเลยรับซื้อไมโครโฟน ของกลางไว้เพื่อให้หลานใช้ร้องเพลงเล่นก็ตามแต่คำร้องขอบรรเทาโทษมิใช่คำให้การ แต่เป็นเพียงการขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและบรรยายเหตุผลต่าง ๆ ให้ศาลปรานีถึงแม้จะมีถ้อยคำที่อาจแสดงว่าจำเลยรับสารภาพในความผิดฐานใดฐาน หนึ่งหรือมิได้รับสารภาพในความผิดฐานใดเลยก็มิอาจถือได้ว่าเป็นคำให้การของจำเลย เมื่อคำให้การของจำเลยไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาใด ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  (ยกฟ้อง—นายแมงมุม)
            กรณีที่โจทก์มีคำขออุปกรณ์ท้ายฟ้องด้วย เช่นการเพิ่มโทษ  การที่โจทก์กล่าวในฟ้องดังว่านั้นเช่นจำเลยพ้นโทษมาไม่เกินห้าปี หรือให้นับโทษต่อกับอีกคดี การบวกโทษในคดีที่รอไว้ ดังนี้หากจำเลยรับสารภาพตามฟ้องถือว่าจำเลยรับสารภาพในประเด็นดังกล่าวด้วยหรือไม่ ? (รวมด้วย—ถือว่ารับทุกเรื่องตามที่กล่าวในฟ้อง)
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๔๘/๒๕๔๖ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2079/2542 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดย ไม่ได้รับอนุญาต ภายในกำหนดระยะเวลารอการลงโทษดังกล่าวจำเลยกระทำความผิดคดีนี้อีกขอให้บวก โทษเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องทั้งหมดให้จำเลยฟัง จำเลยได้ให้การว่า ได้ทราบคำฟ้องตลอดแล้ว ข้าพเจ้าจำเลยขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนั้น คำให้การจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องดังกล่าวจึงย่อมหมายรวมถึงการรับว่าจำเลย เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องด้วย ศาลชั้นต้นจึงนำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษ ของจำเลยในคดีนี้ได้
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมายให้เบาลงแล้วรวมโทษจำคุกกับฐานอื่นเป็นจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ได้ระบุว่าให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษคดี นี้ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วศาลลงโทษจำคุก จำนวนเท่าใด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น
หากจำเลยรับว่าได้กระทำผิด
          ถือว่ารับว่ากระทำความผิดแต่ไม่ได้หมายความว่ารับในเรื่องของการเพิ่มโทษ การบวกโทษ ต่าง ๆ ด้วย  (อ.ธานี—เห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่แหวกแนวออกไป)
ในคดีอาญาจะลงโทษจำเลยได้สองแบบเท่านั้นคือ
๑.    คำรับสารภาพ
๒.    พยานหลักฐาน
กรณีจำเลยรับสารภาพต้องดูต่อที่มาตรา ๑๗๖
          มาตรา ๑๗๖ ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
            ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

·        ความผิดเล็กน้อยศาลลงโทษได้เลย
·        ความผิดร้ายแรง (โทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป) ศาลต้องฟังพยานโจทก์ก่อน
            และศาลก็ยังมีอำนาจตามมาตรา ๑๘๕ ด้วย เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง แต่การสืบพยานโจทก์พยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้ตายได้ตายไปก่อนที่จำเลยจะได้ยิงปืนออกไป ดังนี้การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิด (คดีอาญาถือพยานหลักฐานยิ่งใหญ่กว่าคำรับ-แตกต่างกับคดีแพ่งที่ถือว่าคำรับยิ่งใหญ่กว่าพยานหลักฐาน)

หากจำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลจะกำหนดวันสืบพยานหลักฐาน และการสืบพยานหลักฐานนั้นตามมาตรา ๑๗๔ โจทก์มีอำนาจเปิดคดีซึ่งหมายความว่า โจทก์ต้องสืบพยานก่อน ต่างกับคดีแพ่งที่ดูเรื่องภาระการพิสูจน์
อ่านดูเล่น ๆ นะครับ
          มาตรา ๑๘๕ ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป..
          เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด ..

มาตรา ๑๙๒ ห้ามพิพากษาเกินคำขอ
มาตรา ๑๙๒  ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้า ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่ กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ใน กรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลัก ทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่ โจทก์ฟ้องไม่ได้
ถ้า ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ
ถ้า ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ถ้า ความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

อธิบายเบื้องต้น
หลักเกณฑ์
๑.    ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอ  (แม้กล่าวมาในฟ้องก็ลงโทษไม่ได้—โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ)
·        ข้อยกเว้น
§  โจทก์อ้างฐานความผิด—บทมาตราผิด แต่สืบสมตามฟ้อง ศาลสามารถลงโทษได้ แต่ต้องเป็นบทที่มีโทษน้อยกว่าบทมาตราที่ถูกต้อง (ฐานที่อ้างมาตามคำขอท้ายฟ้องต้องหนักกว่า)
§ ความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง (ตามมาตรา ๑๙๒ วรรคหก) เช่นอันตรายสาหัสรวมการกระทำฐานทำร้ายร่างกายอยู่ตัว หรือชิงทรัพย์กับปล้นทรัพย์ เป็นต้น
๒.    ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง
·        เช่นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยเจตนาขอให้ลงโทษ มาตรา ๒๘๙ ปรากฏว่าฟังได้ว่าจำเลยฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก็ลงโทษได้แค่ ม.๒๘๘ เพราะมิได้กว่าไว้ในฟ้อง
·        ข้อยกเว้น คือวรรคสอง และวรรคสาม คือข้อแตกต่างมิใช่สาระสำคัญ เป็นต้น (ยกเว้นวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสี่)



ติดตามตอนต่อไปนะครับ