ประกาศจากแอดมิน



กำลังปรับปรุงนะครับ อีกสักพักคงได้พบกับ
Spiderlaw แบบเต็มรูปแบบครับ

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภาษีอากร ตอนที่ ๓ ศ.(พิเศษ) ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม


กฎหมายภาษี (ปกติ) เนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัย ๖๗
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ชัยสิทธิ์  ตราชูธรรม
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
การเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ

        บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยส่วนใหญ่จะเสียจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งจะเสียรอบระยะเวลาบัญชีละ ๒ ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง เสียภายในสองเดือนนับจากวันครบหกเดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ครั้งที่สอง เสียภายใน ๑๕๐ วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
        รอบระยะเวลาบัญชี หมายถึงระยะเวลา ๑๒ เดือน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นและสิ้นสุดตามระยะเวลาปฏิทิน (ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับปีภาษี—๑ มกราคม – ๓๑ ธันวาคม) แต่บริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตามปีปฏิทิน แต่บริษัทญี่ปุ่นในไทยจะเริ่มต้น ๑ เมษายน ส่วนบางบริษัทจะเริ่มต้นตามฤดูกาลเช่น บริษัทผลิตน้ำตาล เริ่มต้น ๑ กรกฎาคม หรืออาจเริ่มต้นและสิ้นสุดตามปีงบประมาณแผ่นดินก็ได้ (กฎหมายไม่กำหนดว่าจะต้องเริ่มต้นเมื่อใด)



กรณีที่รอบบัญชีน้อยกว่า ๑๒ เดือนมี ๓ กรณีคือ
๑.     รอบบัญชีแรก (มาตรา ๖๕ (ก))
๒.     การเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบบัญชี (มาตรา ๖๕ (ข))
๓.     การควบบริษัทหรือการเลิกบริษัท
รอบบัญชีแรก
          มาตรา ๖๕ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๕ ทวิ และมาตรา ๖๕ ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้ คือ
        (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้
        ระยะเวลาบัญชีอาจน้อยกว่า ๑๒ เดือนได้ เช่นบริษัทตั้งใหม่ จดทะเบียน ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ดังนั้นหากต้องการให้สิ้นสุด ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ก็ได้ แต่ทำได้เฉพาะรอบระยะเวลาครั้งแรกเท่านั้น สำหรับครั้งต่อ ๆ ไปก็จะเริ่มต้น ๑ มกราคม ๒๕๕๖ สิ้นสุด ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ (โดยไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร)
การเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบบัญชี
          มาตรา ๖๕ (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดี ขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีเช่นว่านี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตสุดแต่จะเห็นสมควร คำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคำร้องทรายภายในเวลาอันสมควร และในกรณีที่อธิบดีสั่งอนุญาต ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนด
        กรณีที่ ๒ ที่รอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า ๑๒ เดือนคือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนวันสุดท้ายของระยะเวลาบัญชี เช่น เดิมถือรอบบัญชีตามปีปฏิทิน ( ๑ มกราคม – ๓๑ ธันวาคม ) แต่ต้องการเปลี่ยนเป็นเริ่มต้นวันที่ ๑ เมษายน และสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ มีนาคม ของปีถัดไป กรณีเช่นนี้ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพากรเพราะเป็นรอบบัญชีที่ ๒ ขึ้นไป (หากเป็นรอบบัญชีแรกไม่ต้องขออนุญาต)

การควบกิจการหรือการเลิกกิจการ
        กรณีที่ ๓ คือกรณีที่ควบกิจการหรือเลิกกิจการ ให้ถือวันจดทะเบียนเลิกบริษัทเป็นวันสุดท้ายของรอบบัญชี เช่นปกติรอบบัญชีเริ่มต้นวันที่ ๑ เมษายน สิ้นสุดวันที่ ๓๑ มีนาคม หากปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเลิกบริษัทวันที่ ๓๐ กันยายน ในปีเดียวกัน วันสุดท้ายของรอบบัญชีคือวันที่ ๓๐ กันยายน (มาตรา ๗๒ วรรคสอง และมาตรา ๗๓)
กรณีที่รอบบัญชีมากกว่า ๑๒ เดือนมี
        กรณีที่ผู้ชำระบัญชีไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการทัน ๑๕๐ วัน จึงขอขยายต่ออธิบดีกรมสรรพากร หากอธิบดีอนุมัติรอบบัญชีก็จะมากกว่า ๑๒ เดือน (มาตรา ๗๒ วรรคสาม)
การเสียภาษี
๑.     ให้เสียภายในสองเดือนนับแต่วันครบ ๖ เดือนแรกของรอบบัญชี (แบบ ภ.ง.ด.๕๑) หากบริษัทถือรอบบัญชีตามรอบปฏิทินวันครบกำหนด ๖ เดือนแรกคือ ๓๐ มิถุนายน ยื่นภายในสองเดือนก็คือ ภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ตามมาตรา ๖๗ ทวิ
๒.     ให้ยื่นภายใน ๑๕๐ วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบบัญชี ตามมาตรา ๖๘
ข้อสังเกต
        มาตรา ๖๗ คือระยะเวลา ๒ เดือน ไม่ได้ดูเป็นวันนะครับ แต่ดูเป็นเดือน แต่กรณียื่นครั้งที่ ๒ ต้องนับเป็นวัน หากเป็นรอบระยะเวลาบัญชีตามปีปฏิทิน จะไม่ใช่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม แต่เป็น ๒๙ หรือ ๓๐ พฤษภาคม ขึ้นอยู่กับว่าเดือนกุมภาพันธ์จะมีกี่วัน (แต่หากเป็นวันหยุดราชการก็เลื่อนได้ตามหลักแพ่งทั่วไปคือวันเปิดทำการวันแรก)
การยื่นครั้งที่ ๑
๑.     ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิรอบบัญชี (การคาดคะเนว่ารอบบัญชีนั้น ๆ บริษัทน่าจะมีกำไรเท่าไร (๑๒ เดือน—ดังนั้นต้องคาดคะเน ๖ เดือนหลัง) )
๒.     ใช้แบบ ภ.ง.ด.๕๑ (การเสียภาษีล่วงหน้า)
๓.     เสียภาษีจากครึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิของรอบบัญชี เช่น ประมาณการว่ากำไรสุทธิรอบระยะเวลาบัญชีจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต้องนำมาเสียเพียงครึ่งเดียว คือ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (ภาษี ๒๐ %)
๔.     ข้อสังเกต การประมาณการณ์ไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจของผู้เสียภาษี จึงต้องมีบทบัญญัติตามมาตรา ๖๗ ตรี ว่าจะประมาณการณ์ขาดไปเกิน ๒๕ % โดยไม่มีเหตุสมควรไม่ได้ จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ เช่น บริษัทประมาณการณ์ว่าจะมีกำไร ๗๐๐,๐๐๐ บาท แต่พอสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปรากฏว่าได้กำไร ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการประมาณการณ์ขาดเกิน ๒๕ % ต้องเสียเงินเพิ่ม เว้นแต่จะประมาณการณ์เท่ากับกำไรปีที่แล้ว (ไม่ต้องถูกลงโทษ)—ถือว่ามีเหตุสมควร
๕.     กรณีที่ไม่ต้องทำประมาณการณ์ แต่ให้เสียตามกำไรสุทธิจริงตามรอบระยะเวลาบัญชี มาตรา ๖๗ ทวิ (๒) ซึ่งได้แก่
v บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
v ธนาคารพาณิชย์
v บริษัทเงินทุน
v บริษัทหลักทรัพย์
v บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
v บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์
การเสียภาษีครั้งที่ ๒
๑.     ให้ปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี
๒.     ใช้แบบ ภ.ง.ด. ๕๐
๓.     เสียภาษีตามอัตราภาษี แล้วเอาเครดิตที่เสียไปแล้วมาเครดิตออก ผลต่างคือภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม หรือสามารถเอาคืนได้
กรณีวิสาหกิจขนาดย่อมใช้อัตราภาษีดังนี้ (อัตราก้าวหน้า—กำไรยิ่งมากยิ่งต้องเสียมาก)
กำไรสุทธิทางภาษี
อัตราภาษี
๑๕๐,๐๐๐ บาทแรก
ได้รับยกเว้นภาษี
ส่วนที่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ แต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐
๑๕ %
เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ เป็นต้นไป
๒๐ % (ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นไป)

        วิสาหกิจขนาดย่อมหมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีใด (ตามกฎหมายใหม่ เริ่ม ๒๕๕๕)
        ทุนชำระแล้วกับทุนจดทะเบียนอ้างไม่เท่ากันนะครับ เพราะเป็นอำนาจของกรรมการบริษัทที่จะเรียกให้ชำระในจำนวนเท่าใด เช่นบริษัทจดทะเบียนมีทุนจดทะเบียน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กรรมการบริษัทเรียกให้ชำระหุ้น ๒๕ % เช่นนี้ทุนที่ชำระแล้วจะเป็นแค่เพียง ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่หากกรรมการเรียกให้ชำระ ๑๐๐ % ก็จะมีทุนที่ชำระแล้วก็จะเท่ากับทุนจดทะเบียน
        กรณีบริษัทมหาชน เป็นไปตาม พ.ร.บ. บริษัท มหาชน กรรมการบริษัทต้องเรียกให้ชำระค่าหุ้นเต็มจำนวน เมื่อเป็นเช่นนี้ทุนจดทะเบียนกับทุนที่ชำระแล้วจะเท่ากันหรือไม่ ? เห็นว่า ไม่ใช่ เสมอไปเพราะบริษัทมหาชน ไม่จำเป็นต้องมีผู้จองซื้อหุ้นครบ ๑๐๐ % ก็จดทะเบียนตั้งบริษัทได้ (อย่างน้อย ๕๐ % ) (บริษัทเอกชนต้องขายหุ้นได้ทั้งหมดจึงจะจดทะเบียนบริษัทได้ต่างกับกรณีของมหาชน)
กำไรสุทธิ (มาตรา ๖๕)
        มาตรา ๖๕ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๕ ทวิ และมาตรา ๖๕ ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้ คือ ...

กำไรสุทธิ = รายได้มากกว่ารายจ่าย
ขาดทุนสุทธิ = รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

รายได้
        กรมสรรพากรเห็นว่า รายได้มีความหมายเดียวกันกับเงินได้พึงประเมิน (มาตรา ๓๙) จึงมีข้อโต้แย้งว่า รายได้ไม่น่าจะมีความหมายอย่างเดียวกันกับเงินได้พึงประเมิน
        มาตรา ๓๘ “เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา ๔๐ และเครดิตภาษีตามมาตรา ๔๗ ทวิ ด้วย
ดังนี้รายได้พึงประเมินจึงมีความหมาย
๑.     เงิน
๒.     ทรัพย์สิน
๓.     ประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
๔.     ค่าภาษีอากรที่ผู้อื่นออกแทนให้ ฯ
๕.     เครดิตภาษีตามมาตรา ๔๗ ทวิ
        คดีตัวอย่าง กรมสรรพากรเห็นว่าการได้ใช้รถฟรีถือเป็นประโยชน์ที่คำนวณได้เป็นเงิน จึงถือว่าเป็นรายได้ต้องเสียภาษี ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่าเงินได้พึงประเมินใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย แต่ไม่ได้ให้เหตุผลไว้
วิเคราะห์โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
        คำว่า “หมวดนี้” หมายถึง หมวดที่ ๓ ภาษีเงินได้ แบ่งเป็น ๓ ส่วนดังนี้
๑.     ข้อความทั่วไป
๒.     การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา
๓.     การเก็บภาษีจากบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
          แสดงว่าประมวลรัษฎากรมีเจตนาให้ใช้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย นอกจากนี้คำว่า “เงินได้พึงประเมิน” ยังปรากฏในมาตรา ๖๙ ทวิ มาตรา ๖๙ ตรี และมาตรา ๗๐ จึงสรุปได้ว่า คำว่าเงินได้พึงประเมินจึงหมายถึงรายได้ตามมาตรา ๖๕ นั่นเอง

รายได้มีสองแบบคือ
๑.     รายได้ที่เกิดขึ้นจริง ( real Income)
๒.     รายได้ที่ถือว่าเกิดขึ้น (deemed Income)
*   มาตรา ๗๐ ตรี การส่งสินค้าไปต่างประเทศไม่ว่าจะส่งไปขายจริงหรือไม่ ให้ถือเป็นการขาย และราคาขายให้ถือเป็นรายได้ (ใช้กับผู้ส่งสินค้าที่เป็นนิติบุคคล-หากเป็นบุคคลธรรมดาดูมาตรา ๔๐ ทวิ ) ข้อยกเว้นคือ
v เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ
v เป็นของผ่านแดน
v เป็นของที่นำเข้าในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาในหนึ่งปีนับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
v เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร
*   มาตรา ๖๕ ทวิ (๔)  ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน
v     เช่น บริษัทแม่ให้บริษัทกู้ยืมเงินซึ่งตนกู้ยืมมาในอัตราร้อยละ ๑๐ โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยแก่บริษัทลูกถือว่าไม่มีเหตุผลตามสมควร เช่นนี้หากดอกเบี้ยตามเงินกู้ที่บริษัทลูกกู้ยืมไปนั้นเป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กฎหมายให้ถือว่าบริษัทแม่มีรายได้จากดอกเบี้ยจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทซึ่งต้องนำเสียภาษี
การขายต่ำกว่าราคา (ให้ดู ๒ ฎีกา)
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓๔๑/๒๕๕๐ โจทก์ประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไรโดยกู้ยืมเงินมาลง ทุน ตอนที่โจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่ปรากฏว่าราคารถยนต์ในขณะ นั้นลดลงและโจทก์ก็ไม่ได้ประสบกับขาดทุน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องขายรถยนต์ในราคาที่ขาดทุน อีกทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถชี้แจ้งเหตุผลการขายขาดทุนแก่เจ้าพนักงานประเมินได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าทุนโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาผลขาดทุนจากการขายมาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว
        คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษี อากรเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้และผู้ต้องเสียภาษี อุทธรณ์เท่านั้น จะไปตั้งประเด็นใหม่นอกเหนือจากประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการ ประเมินหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขาย จำนวน 5,621,000 บาท เป็นรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายค่าติดตามหนี้และ ค่าส่งเสริมการขายจำนวน 1,770,000 บาท ส่วนที่เหลือไม่ให้หักโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็น ผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) และ (18) แสดงให้เห็นได้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่ารายจ่ายค่าติดตาม หนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท ของโจทก์มิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นตามที่เจ้า พนักงานประเมินได้ประเมินไว้ แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายได้เพียง 1,770,000 บาท ส่วนอีก 3,851,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้นำมาหักนั้นเกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์เรียกพนักงานผู้มีรายชื่อตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ได้รับเงินค่า ติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายมาไต่สวน โดยไม่มีประเด็นเหล่านี้ในชั้นเจ้าพนักงาน การพิจารณาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ตั้งประเด็น ไว้ในชั้นไต่สวนเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 19, 20, และ 32 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์โต้แย้งตามลำดับขั้นตอนได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับไต่สวนเสียเองในประเด็นอื่นที่เจ้า พนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
        โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งมา แม้โจทก์จะได้อุทธรณ์การประเมินก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินไปก่อน หากผลที่สุดโจทก์ไม่ต้องชำระหรือชำระน้อยกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ ประเมินไว้ โจทก์มีสิทธิได้คืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ การที่โจทก์เลือกที่จะนำหนังสือรับรองของธนาคารมาค้ำประกันหนี้ค่าภาษีของ โจทก์โดยโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารผู้ค้ำประกันร้อยละ 1.7 ต่อปี จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เลือกวิธีดังกล่าวเอง โจทก์จึงต้องรับภาระดังกล่าวไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๓๐/๒๕๔๕ การโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดที่จะทำ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนหรือราคาเพิ่มขึ้นตามประมวล รัษฎากรฯ มาตรา 65 ทวิ(4) จะต้องเป็นการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่โจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุนเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้มีส่วนในการส่งเสริมการขายของโจทก์ทำให้สินค้าของโจทก์รู้จักกัน แพร่หลาย โจทก์มีรายได้และมีกำไรเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดย มีเหตุอันสมควรการที่เจ้าพนักงานประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการ ประเมินที่ไม่ชอบ
        โจทก์ บริษัท ท. และบริษัท ร. ทำสัญญาเช่าและสัญญาการให้บริการสาธารณูปโภคกับบริษัท ส. ผู้ให้เช่าอาคาร โดยมีบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ท. และบริษัท ร. เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งความรับผิดตามสัญญาเช่าและสัญญาการให้บริการสาธารณูปโภคในระหว่างผู้ เช่าด้วยกันโจทก์รับผิดเพียงหนึ่งในสามของค่าเช่าและค่าบริการต่าง ๆ มิใช่ต้องรับผิดทั้งหมดรายจ่ายส่วนที่โจทก์จ่ายแทนผู้เช่าอีก 2 บริษัท จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตาม ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 65 ตรี (13) ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่เจ้าพนักงานประเมินตัดรายจ่ายในส่วนนี้ออกสองในสามส่วนและประเมินให้ โจทก์เสียภาษีเพิ่มจึงชอบแล้ว

รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
๑.    ประมวลรัษฎากร
๒.    พระราชกฤษฎีกา
๓.    พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
*ประมวลรัษฎากร
vมาตรา ๖๕ ทวิ (๑๐)
§  คำถาม  : บริษัท ก. ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ข. บริษัท ข. จ่ายเงินปันผลให้จำนวน ๑๐๐ ล้านบาท (เงินปันผลมาจากกำไร) ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
§  องค์ประกอบ
·      บริษัทที่รับเงินปันผลต้องตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
·      บริษัทที่จ่ายเงินปันผลต้องตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
·      บริษัทผู้รับเงินปันผลต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตาม(ก)) หรือ ได้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๕ ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
·      บริษัทผู้รับเงินปันผลต้องถือหุ้นอยู่ในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า ๓ เดือนถึงวันจ่ายเงินปันผล และต้องถือต่อไปไม่น้อยกว่า ๓ เดือน
§  หากเข้าองค์ประกอบทั้ง ๔ ข้อจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่หากขาดองค์ประกอบข้อที่ ๓ จะได้รับยกเว้นภาษีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
§  คำถาม  :  บริษัท ก. จำกัด (ป.พ.พ.) ถือหุ้นในบริษัท ข. ๑๐ % บริษัท ข. จ่ายหุ้นให้บริษัท ก. จำกัด ๑๐ ล้านบาท ซึ่งก่อนจ่ายเงินปันผลนั้นบริษัท ก. ถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๓ เดือน และถือต่อไปอีกไม่น้อยกว่า ๓ เดือน
§  แนวทางการตอบ บริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ต้องเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นตัดข้อที่ ๑ ได้เลย และเมื่อถือหุ้นไม่ครบจึงไม่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด คงได้รับการยกเว้นเพียงครึ่งเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เห็นกันอย่างไร เสนอความเห็นกันหน่อยเร็ว !!!!!