เช็คเมืองเดียวและเช็คต่างเมือง
นายแมงมุม
มาตรา ๙๙๐ ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่า ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค ต้องยื่นภายใน เดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่น
ภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้น ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะ เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลย เสียไม่ยื่นเช็คนั้น
อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น ท่านให้รับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร
อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น ท่านให้รับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร
เหตุที่กฎหมายกำหนดเวลาให้ผู้ทรงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเพราะเช็คเป็นตราสารที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม[1]ผู้สั่งจ่ายย่อมต้องการให้มูลหนี้เดิมระงับไปโดยเร็ว
หากไม่มีกฎหมายกำหนดเวลาเอาไว้ก็จะเป็นการผูกมัดบัญชีของผู้สั่งจ่ายให้ต้องมีเงินอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเป็นภาระแก่ผู้สั่งจ่าย[2]
เช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน
เช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน หมายถึง
เช็คที่สถานที่ที่ผู้สั่งจ่ายออกเช็คตามมาตรา ๙๘๘ (๖) กับสถานที่ใช้เงิน
คือธนาคารผู้จ่ายเงินตามมาตรา ๙๘๘ (๕) อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมาตรา ๙๙๐ กำหนดให้ต้องยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ออกเช็ค
เช็ดให้ใช้เงินต่างเมืองกัน (ที่อื่น)
เช็คให้ใช้เงินต่างเมืองกัน
หมายถึง สถานที่ออกเช็คและสถานที่ตั้งของธนาคารผู้จ่ายเงินตามที่กล่าวมาข้างต้น
อยู่คนละจังหวัดกัน ซึ่งมาตรา ๙๙๐
กำหนดให้ต้องยื่นภายในสามเดือนนับแต่วันที่ออกเช็ค
ข้อสังเกต
โดยทั่วไปสถานที่ออกเช็คตามมาตรา ๙๘๘ (๖)
จะไม่ปรากฏบนเช็คดังนั้นจะต้องนำมาตรา ๙๑๐ ประกอบมาตรา ๙๘๙ วรรคแรก คือให้ถือว่าสถานที่ออกเช็คคือภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
ซึ่งการจะดูว่าเป็นเช็คเมืองเดียวหรือเช็คต่างเมืองก็ต้องดูว่าสั่งให้ธนาคารไหนจ่ายเงิน
เช่น ก. มีภูมิลำเนาอยู่ ที่จังหวัดสงขลา ได้ออกเช็คที่จังหวัดพังงาขณะเดินทางไปเที่ยว สั่งธนาคารไทยพาณิชย์
สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ให้จ่ายเงินให้แก่นาย
ข. ปรากฏว่าไม่มีช่องรายการสถานที่ออกเช็ค ดังนี้ตามมาตรา ๙๑๐ ประกอบมาตรา ๙๘๙
วรรคแรก ให้ถือว่าภูมิลำเนาของ ก.
คือสถานที่ออกเช็ค เมื่อถือว่าเช็คดังกล่าวได้ออกที่จังหวัดสงขลา และสถานที่ใช้เงิน (ธนาคารผู้จ่าย) อยู่ที่จังหวัดสงขลา
จึงเป็นเช็คเมืองเดียวกัน ดังนี้ ข. ต้องนำยื่นเช็คดังกล่าวเพื่อใช้เงินภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็ค
วันที่ออกเช็คตามมาตรา ๙๙๐ คือวันใด ?
เนื่องจากลักษณะพิเศษของเช็คคือสามารถลงวันที่ล่วงหน้าได้
เช่น วันที่เขียนเช็คคือวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
แต่สามารถลงวันที่ในเช็คเป็นวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ได้
ดังนี้วันที่ออกเช็คตามความหมายในมาตรา ๙๙๐ คือวันใดระหว่างวันที่เขียนเช็ค
กับวันที่ลงในเช็ค
วันที่ออกเช็คตามความหมายในมาตรา
๙๙๐ หมายถึงวันที่ลงในเช็คตามมาตรา ๙๘๘ (๖)
ไม่ใช่วันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็ค[3]
ดังนั้นกำหนดเวลาต้องเริ่มนับจากวันที่ลงในเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๙๕๒๙/๒๕๔๔ เช็คเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เงินเมื่อทวงถาม
ซึ่งผู้ทรงเช็คมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึง วันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็ค
แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กำหนดอายุความ 1 ปีที่ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวัน
ที่ผู้ทรงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คเดิมออกเช็คพิพาทจึงเป็น
เช็คที่มิได้ลงวันออกเช็ค และแสดงให้เห็นเจตนาว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้
ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารจึงชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการ
ขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็คและเมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลง วันออกเช็คในครั้งหลังเพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คก็เป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำ
ได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกเช็คหรือลงในเช็คในครั้งหลังเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนดแล้วประมาณ
3 เดือนเศษคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
หากไม่ยื่นเช็คภายในกำหนด
...ถ้ามิฉะนั้น ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะ เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลย เสียไม่ยื่นเช็คนั้น...
๑.
ผู้สลักหลังหลุดพ้น
บุคคลที่จะหลุดพ้นแน่นอนเมื่อยื่นเช็คพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา
๙๙๐ (หนึ่งเดือนกรณีเช็คเมืองเดียวกันหรือสองเดือนกรณีเช็คต่างเมือง) คือ ผู้สลักหลังทั้งปวง
ซึ่งหมายความรวมทั้งผู้สลักหลังทั้งก่อนและหลังระยะเวลาดังกล่าว[4]แต่กรณีนี้ต้องปรากฏว่าเป็นผู้สลักหลังเท่านั้นหากเป็นการสลักหลังในตั๋วผู้ถือแล้วบุคคลดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา
๙๒๑ ประกอบมาตรา ๙๘๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๐๗/๒๕๔๒ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค
และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม
แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา
989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง
ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ
รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่
1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ
967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน
(อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวง อันจะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ
เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น
บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน
การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้
๒. ผู้สั่งจ่ายหลุดพ้น (หากเกิดความเสียหาย)
ความเสียหายที่ทำให้ผู้สั่งจ่ายหลุดพ้น
หมายถึงกรณีที่ผู้สั่งจ่ายต้องสูญเสียเงินในธนาคารเพราะการที่ผู้ทรงไม่นำเช็คไปยื่นในกำหนดเวลาซึ่งก็คือ
การที่ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คล้มละลาย
(ติดตามตอนต่อไป...)
นายแมงมุม
[1]
วันถึงกำหนดใช้เงินตามเช็คมีแค่เพียงการทวงถามเท่านั้น
(มาตรา ๙๘๙ ...สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่...)
ซึ่งต่างจากกรณีกรณีตั๋วแลกเงินตามมาตรา ๙๑๓ ซึ่งมีสี่ประเภท
[2]
กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เรียงมาตรา ว่าด้วยตั๋วเงิน เล่ม ๒ (มาตรา ๙๘๙ – ๑๐๑๑), สหธน รัตนไพจิตร, (มกราคม ๒๕๕๕), หน้า ๕๘๖
[3]
เพิ่งอ้าง,
หน้า ๕๘๘
[4]
เพิ่งอ้าง, หน้า
๕๘๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เห็นกันอย่างไร เสนอความเห็นกันหน่อยเร็ว !!!!!