ประกาศจากแอดมิน



กำลังปรับปรุงนะครับ อีกสักพักคงได้พบกับ
Spiderlaw แบบเต็มรูปแบบครับ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เงื่อนไขกำกับการจ่ายเงินและเงื่อนไขจำกัดความรับผิด


เงื่อนไขกำกับการจ่ายเงินและเงื่อนไขจำกัดความรับผิด
นายแมงมุม

       เหตุที่ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้น ๆ นี้ขึ้นมาเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการสอบกลางภาควิชาตั๋วเงินทำให้ผมเกิดความสับสนว่าเงื่อนไขทั้งสองอย่างนี้มันต่างกันอย่างไร ดังนั้นบทความสั้น ๆ นี้จะสรุปว่าเงื่อนไขทั้งสองประการมีความต่างกันอย่างไรและขณะเดียวกันหากมีเงื่อนไขเหล่านั้นแล้วจะส่งผลต่อตั๋วเงินอย่างไร ในกรณีนี้จะศึกษาเฉพาะในเรื่องเช็ค

คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขในการใช้เงิน

รายการในเช็ค

        มาตรา ๙๘๘ อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

        ที่ว่าต้องเป็น “คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน” นั้น เฉพาะในส่วนที่ว่าต้องปราศจากเงื่อนไขนั้นสามารถสรุปได้ดังนี้
        เงื่อนไขที่ว่านั้น คือเงื่อนไขที่ผู้รับเงินอาจได้รับเงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต[1] เช่น ให้ธนาคารใช้เงินให้แก่นายหนึ่งจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อนายหนึ่งมีบุตรเป็นผู้ชาย เช่นนี้ถือเป็นคำสั่งอันมีเงื่อนไข ซึ่งหากตราสารใดไม่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๘๘ ตราสารดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา ๙๘๙

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๕๘/๒๕๔๘ เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม      ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

        รองศาสตราจารย์สหธน  รัตนไพจิตร ให้ความเห็นว่าเงื่อนไขการใช้เงินนั้นรวมถึงการกระทำที่ต้องกระทำก่อนจะใช้เงินด้วย[2]เช่น แดงอยู่เชียงใหม่สั่งซื้อสินค้าจากขาวซึ่งอยู่ที่ปัตตานีในการซื้อสินค้านี้แดงได้ออกตราสารสั่งธนาคารใช้เงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทให้ขาว โดยระบุไว้ในคำสั่งใช้เงินว่า “โปรดใช้เงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทให้ขาวเมื่อขาวได้ส่งสินค้าขึ้นรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว” ดังนี้หากขาวไม่ขนสินค้า ธนาคารก็ไม่ต้องจ่ายเงิน คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งอันมีเงื่อนไขในการใช้เงิน ทำให้ตราสารไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วเงิน
       
เงื่อนไขจำกัดความรับผิด

        มาตรา ๙๑๕ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
(๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน

        มาตรา ๙๑๕ อนุโลมมาใช้ในเช็คตามมาตรา ๙๘๙ ด้วย ดังนั้นหมายความว่า หากเขียนข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สั่งจ่ายลงไปในเช็คสามารถกระทำได้และมีผลบังคับตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
        จากกรณีเดิม ข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็น “แดงจะรับผิดตามตั๋วเมื่อขาวได้ส่งสินค้าขึ้นรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว”[3] เช่นนี้สามารถกระทำได้และมีความสมบูรณ์เป็นเช็คเพราะคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นคำสั่งที่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน

        รองศาสตราจารย์สหธน  รัตนไพจิตร ได้ให้ข้อสังเกตว่า การจำกัดความรับผิดตามมาตรา ๙๑๕ นั้นเป็นเรื่องที่พิจารณาจากคำสัญญาของผู้สั่งจ่ายโดยพิจารณาด้านผู้สั่งจ่ายอย่างเดียวว่าผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดเมื่อใด หรือไม่ต้องรับผิดเมื่อใด แต่เงื่อนไขการใช้เงินนั้นเป็นคำสั่งของผู้สั่งจ่ายสั่งไปยังธนาคารผู้จ่ายว่าให้ใช้เงินได้เมื่อมีเงื่อนไขอะไรบ้าง[4]


ดังนั้นสรุปได้ดังนี้
๑.     เงื่อนไขกำกับการใช้เงินคือ กำหนดว่าธนาคารจะต้องใช้เงินเมื่อใด ซึ่งทำให้ตราสารไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค

๒.     เงื่อนไขจำกัดความรับผิดคือ เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดเมื่อใด

ตัวอย่างเปรียบเทียบ

นายหนึ่งสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทแก่นายสอง โดยมีเงื่อนไขดังนี้
๑.     ธนาคารจะใช้เงินให้แก่นายสองต่อเมื่อนายสองได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ขนส่งแล้ว
๒.     นายหนึ่งจะต้องรับผิดต่อนายสองเมื่อนายสองได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ขนส่งแล้ว

        กรณีตาม ๑. เป็นเงื่อนไขตาม ๙๘๘ (๒) ทำให้ไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค แต่ตัวอย่างตาม ๒. เป็นเรื่องของมาตรา ๙๑๕ (๑) มีผลบังคับได้



หมายเหตุ : หากเอกสารชุดนี้มีความบกพร่องประการใด กรุณาแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://spiderlaw.blogspot.com  หรือส่งอีเมล์มาที่ pitakkits@hotmail.com


[1] กองทุนศาสตราจารย์จิตติ  ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียงมาตรา ว่าด้วยตั๋วเงิน เล่ม ๒
(มาตรา ๙๘๙ – ๑๐๑๑), สหธน  รัตนไพจิตร, (มกราคม ๒๕๕๕), หน้า ๕๓๑

[2] เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓๒

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓๓
[4] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน


1 ความคิดเห็น:

เห็นกันอย่างไร เสนอความเห็นกันหน่อยเร็ว !!!!!